ชีวิตแสนสั้น กับสิ่งที่ตามมา


มีเรื่องเล่าของนางฟ้าองค์หนึ่ง  ซึ่งเป็นบริวารของเทพบุตรองค์หนึ่ง
อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

วันหนึ่ง  นางฟ้าองค์นี้หมดบุญในสวรรค์
จึงจุติ (เคลื่อนจากความเป็นนางฟ้า) มาเกิดเป็นมนุษย์

แล้วระลึกชาติได้ว่า
เคยเป็นนางฟ้า  เคยเป็นบริวารของเทพบุตรองค์หนึ่ง
ดังนั้น  เมื่อเป็นมนุษย์อยู่  จึงขวนขวายทำบุญกุศลต่าง ๆ
แล้วตั้งจิตปรารถนาไปเกิดเป็นนางฟ้าอยู่ร่วมกับเทพบุตรองค์นั้นอีก

ต่อมาวันหนึ่ง
หลังจากที่ขวนขวายทำบุญถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ในตอนเช้าแล้ว
ตกตอนเย็น  ก็ถึงแก่ความตายด้วยโรคบางอย่าง
ด้วยอายุที่ไม่ถึง ๑๐๐ ปี
แล้วได้กลับไปเกิดร่วมกับเทพบุตรองค์นั้นอีก

เวลา ๑ วันในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เทียบได้กับเวลา ๑๐๐ ปีในโลกมนุษย์
ดังนั้น  เมื่อกลับมาเป็นนางฟ้าในสวรรค์อีกครั้ง
จึงยังคงเป็นวันเดียวกันกับที่ได้ไปเกิดในโลกมนุษย์

เทพบุตรถามนางฟ้านั้นว่าหายไปไหนมา
เธอได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง

เทพบุตรถามว่า
"ชีวิตของคนในโลกมนุษย์ไม่ถึง ๑๐๐ ปี
แล้วมนุษย์ทั้งหลายทำอะไรกัน
ขวนขวายสร้างบุญกุศล  ให้ทาน  รักษาศีล
หรือว่าประมาทมัวเมา  เพลิดเพลินกันอยู่"

คำตอบที่ได้คือ
"มนุษย์โดยส่วนใหญ่  ประมาทมัวเมากันอยู่
ราวกับว่าจะมีอายุเป็นร้อยปีพันปี
ราวกับว่าจะไม่แก่ไม่ตาย"

(คุณเห็นด้วยกับคำตอบของนางฟ้านี้ไหม
อ่านเพิ่มเติมได้ในเรื่องปติปูชิกาวัตถุ)
..........


อย่างไรก็ดี
ก็ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่รู้ว่าอายุคนเราไม่ได้ยืนยาวอย่างนั้น
รู้ว่าทุกคนเกิดมาก็ต้องตาย
ใช่  ยังมีหลายคนที่ตระหนักได้อย่างนี้

แต่ .....  ตามมาด้วยความคิดที่ว่า

"ชีวิตคนเรามันสั้น  อยากทำอะไรก็รีบทำซะ
อยากทำอะไร  ทำ
อยากกินอะไร  กิน

อยากไปเที่ยวไหน  เที่ยว
อย่ามัวรอวันพรุ่งนี้
ใช้ทุกวัน  ทุกเวลา  ทุกวินาที  ให้คุ้มค่าที่สุด
เพราะถ้าวันเวลา  โอกาส  มันผ่านไปแล้ว  มันกลับมาไม่ได้อีก"
.....

"ชีวิตมันสั้น  อย่าทำตัวซับซ้อน
รักให้บอก  เกลียดให้ถาม  มีปัญหาให้เคลียร์"
.....

"ชีวิตคนเราสั้นนัก  ใส่ใจแค่ตนเองก็พอ
แล้วชีวิตจะมีความสุขมากขึ้นเป็นกอง"
.....

แล้วในทางพระพุทธศาสนา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไร



(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


ครั้งหนึ่ง
มีพราหมณ์แก่เข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
"ข้าพระองค์มีอายุถึง ๑๒๐ ปีแล้ว
แต่ไม่เคยทำความดี  ไม่เคยสร้างกุศลไว้
ข้าพระองค์ควรทำอย่างไร  พระพุทธเจ้าข้า"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
       "ชีวิตถูกชรานำเข้าไปสู่ความมีอายุสั้น
ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปแล้ว  ย่อมไม่มีเครื่องต้านทาน
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรทำบุญที่นำความสุขมาให้
       ความสำรวมทางกาย  วาจา  และใจ  ในโลกนี้
ย่อมมีเพื่อความสุขแก่บุคคลผู้ตายไปแล้ว
ซึ่งได้ทำบุญไว้ขณะเมื่อมีชีวิตอยู่"

เมื่อพราหมณ์ผู้นี้ไม่เคยบำเพ็ญบุญกุศล  ไม่เคยละบาปอกุศล
สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน
ก็ให้พราหมณ์เริ่มบำเพ็ญบุญกุศล  ละบาปอกุศล
.....

อีกครั้งหนึ่ง
มีเทวดาองค์หนึ่งเข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วกราบทูลความเห็นของตนว่า
       "ชีวิตถูกชรานำเข้าไปสู่ความมีอายุสั้น
ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปแล้ว  ย่อมไม่มีเครื่องต้านทาน
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรทำบุญที่นำความสุขมาให้"

เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพราหมณ์แก่ข้างต้นเลย

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับเทวดานั้นว่า
       "ชีวิตถูกชรานำเข้าไปสู่ความมีอายุสั้น
ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปแล้ว  ย่อมไม่มีเครื่องต้านทาน
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรละโลกามิส  มุ่งสู่สันติ (คือนิพพาน) เถิด"

การได้เสวยผลของบุญในสวรรค์  เป็นสิ่งนำสุขมาให้ก็จริง
แต่เทวดาก็มีหมดอายุขัย
และเมื่อจุติจากเทวดาแล้ว  ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีก

ฉะนั้น  เมื่อสิ่งที่ประเสริฐกว่า  มีอยู่
พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้เทวดานั้นไม่หยุดอยู่แค่สวรรค์
แต่ทรงชี้ให้เห็นถึงประโยชน์สูงสุด (คือนิพพาน)

(พระสูตรลักษณะนี้มีปรากฏในพระไตรปิฎกถึง ๔ แห่ง
ดูที่ลิงค์ข้างล่าง)
.....


ความเห็นเรื่อง  "ชีวิตแสนสั้น"  จึงมีหลายระดับ  คร่าว ๆ ดังนี้

ระดับ ๑   ไม่สนใจเรื่องชีวิตแสนสั้น  ใช้ชีวิตประมาทมัวเมาในโลกไปวัน ๆ

ระดับ ๒   รู้ว่าชีวิตแสนสั้น  จึงใช้ชีวิตแบบที่เรียกว่าสนุกให้เต็มที่  กินให้เต็มที่  เที่ยวให้เต็มที่  ไม่ต้องแคร์ใคร  ทำทั้งบุญ  ทำทั้งบาป

ระดับ ๓   รู้ว่าชีวิตแสนสั้น  จึงรีบขวนขวายทำความดี  เพราะรู้ว่าโอกาสที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์เพื่อทำความดีมีน้อย

ระดับ ๔   รู้ว่าชีวิตแสนสั้น  รีบทำความดี  ละความชั่วทั้งหมด  ทำตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเพื่อจะได้ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

พระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไปตามลำดับ

คำถาม  "เราอยู่ระดับไหน"
..........

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปติปูชิกาวัตถุ (เรื่องนางปติปูชิกา)
๒. ปฐมเทวพราหมณสูตร (ว่าด้วยพราหมณ์แก่ ๒ คน  สูตรที่ ๑)
๓. อุปนียสูตร (ว่าด้วยชีวิตถูกชรานำเข้าไป)
๔. อัจเจนติสูตร (ว่าด้วยกาลที่ล่วงเลยไป)
๕. อุตตรสูตร (ว่าด้วยอุตตรเทพบุตร)
๖. นันทสูตร (ว่าด้วยนันทเทพบุตร)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น