ผู้ควรแก่การอดโทษให้


มีเด็กชาย ๒ คนกระทำความผิดบางอย่าง

หลังจากที่กระทำไปแล้ว
คนแรก  สำนึกได้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นเป็นความผิด  ไม่ควรทำ
จึงกล่าวคำขอโทษในสิ่งที่ตนเองทำลงไป

คนที่สอง  ยังไม่ได้สำนึก  แต่เมื่อถูกจับได้  กลัวถูกลงโทษ
จึงกล่าวคำขอโทษ  และเรียกร้องให้คู่กรณีอดโทษให้

ในกรณีเช่นนี้  เด็กทั้ง ๒ คนทำความผิดเหมือนกัน
กล่าวคำขอโทษออกมาเหมือนกัน
แต่คุณคิดว่าเด็กคนไหนที่สมควรได้รับการอดโทษให้มากกว่ากัน
.....


ในสมัยพุทธกาล
มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง  เรียกว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ (มี ๖ คน)
เป็นกลุ่มที่ก่อเหตุอันไม่สมควรไว้มากมาย
ทำให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นมาหลายข้อ
แต่ถึงกระนั้น  ภิกษุกลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้สำนึกถึงความผิดของตน
ยังคงหาช่องทางเลี่ยงพระวินัยอยู่เนือง ๆ

ครั้งหนึ่ง
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์มีความโกรธ  ไม่พอใจ  ทำร้ายพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ (มี ๑๗ คน)
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ร้องไห้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกประชุมสงฆ์แล้วทรงสอบถาม
เมื่อพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยอมรับว่ากระทำเช่นนั้นจริง
พระพุทธเจ้าจึงทรงตำหนิ  แล้วทรงบัญญัติวินัยว่า
"ถ้าภิกษุใดโกรธ  ไม่พอใจ  แล้วทำร้ายภิกษุ  ต้องอาบัติปาจิตตีย์"

ต่อมา  พวกภิกษุฉัพพัคคีย์โกรธ  ไม่พอใจพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์อีก
แต่ไม่ทำร้าย  เพราะพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัยห้ามไว้
คราวนี้  จึงเงื้อฝ่ามือแสดงท่าทางว่าจะทำร้ายพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ (แต่ไม่ลงมือ)
ทำให้พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์กลัว  จึงร้องไห้อีก
พระพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติวินัยอีกว่า
"ภิกษุใดโกรธ  ไม่พอใจ  แล้วเงื้อฝ่ามือทำทีเหมือนจะทำร้ายภิกษุ  ต้องอาบัติปาจิตตีย์"

แต่ยังไม่หยุดแค่นั้น
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยังคอยก่อความรำคาญต่าง ๆ ให้แก่พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์  ด้วยการคอยพูดจาทำให้เสียใจ
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ก็พากันร้องไห้
พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติวินัยอีกว่า
"ภิกษุใดจงใจก่อความรำคาญให้แก่ภิกษุอื่น  ด้วยหวังว่าจะทำให้ภิกษุนั้นอยู่ไม่ผาสุก  ต้องอาบัติปาจิตตีย์"

การที่พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ก่อเหตุบ่อย ๆ อย่างนี้
แม้จะรับสารภาพต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าเมื่อถูกซักถามก็ตาม
แต่เมื่อยังไม่สำนึกว่าสิ่งที่กระทำนั้นเป็นความไม่ดี
พวกเขาก็จะยังคงทำสิ่งที่ไม่สมควรต่อไป
.....




ครั้งหนึ่ง
พระเจ้าอชาตศัตรูได้ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา
เพราะหลงเชื่อพระเทวทัตให้ชิงราชบัลลังก์

ต่อมา  เมื่อมีโอกาสได้ฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้สำนึกว่าสิ่งที่ทำไปนั้นเป็นความผิดจริง
จึงตรัสกับพระพุทธเจ้าว่า
       "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ความผิดได้ครอบงำหม่อมฉันผู้โง่เขลาเบาปัญญา
ซึ่งได้ปลงพระชนม์พระราชบิดาผู้ทรงธรรม  เพราะต้องการความเป็นใหญ่
       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระองค์โปรดทรงรับทราบความผิดของหม่อมฉันตามความเป็นจริงเถิด
เพื่อจะได้สำรวมต่อไป"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
       "เจริญพร  มหาบพิตร
ความผิดได้ครอบงำพระองค์ผู้โง่เขลาเบาปัญญา
ซึ่งได้ปลงพระชนม์พระราชบิดาผู้ทรงธรรม  เพราะต้องการความเป็นใหญ่
       แต่พระองค์ทรงเห็นความผิดว่าเป็นความผิด
แล้วทรงสารภาพตามความเป็นจริง
ดังนั้น  อาตมภาพขอรับทราบความผิดนั้นของพระองค์
       ก็ผู้ที่เห็นความผิดว่าเป็นความผิด
แล้วสารภาพออกมาตามความเป็นจริง
รับว่าจะสำรวมต่อไป
วิธีนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า"
.....


ครั้งหนึ่ง
ภิกษุรูปหนึ่งไม่พอใจพระสารีบุตรด้วยเหตุบางอย่าง  จึงให้ร้ายพระสารีบุตร
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับสั่งสอบถาม

เมื่อพระสารีบุตรกราบทูล (ในสีหนาทสูตร) แล้ว
ภิกษุรูปนั้นเกิดความสำนึกผิดได้  จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า
       "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
โทษได้มาถึงข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล  เป็นคนหลง  เป็นคนไม่ฉลาด
ที่ได้กล่าวตู่ท่านพระสารีบุตร
ด้วยคำที่ไม่มีอยู่  เปล่าประโยชน์  เป็นเรื่องเท็จ  ไม่เป็นจริง
       ขอพระผู้มีพระภาคโปรดอดโทษแก่ข้าพระองค์
เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
       "โทษได้มาถึงเธอผู้เป็นคนพาล  เป็นคนหลง  เป็นคนไม่ฉลาด
ที่เธอได้กล่าวตู่สารีบุตร
ด้วยคำที่ไม่มีอยู่  เปล่าประโยชน์  เป็นเรื่องเท็จ  ไม่เป็นจริง
       แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษ
แล้วทำคืนตามธรรม (สารภาพตามความเป็นจริง)
เราย่อมอดโทษนั้นแก่เธอ
       การที่ภิกษุเห็นโทษโดยความเป็นโทษ
แล้วทำคืนตามธรรม (สารภาพตามความเป็นจริง)
ถึงความสำรวมต่อไป
วิธีนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า"
.....


เมื่อเด็ก ๆ ทำผิด
การทำให้เด็กกลัวถูกลงโทษ  ทำให้เด็กสารภาพ  ทำให้เด็กขอโทษ
โดยที่เขายังไม่เห็นว่าเป็นความผิด
การขอโทษของเด็กก็อาจจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงตัวของเขา

แต่ถ้าสามารถทำให้เด็กเห็นได้ว่านั่นเป็นความผิด  เป็นสิ่งไม่ดี
เกิดสำนึกได้ว่าเป็นความผิดจริง
เด็กทุกคนก็อยากเป็นคนดี
เขาก็จะปรับปรุงตัวเองไม่ให้ทำความผิดอีก
.....


เราเองก็เช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมา  เราอาจจะเคยทำความผิดบางอย่าง
เคยทำผิดศีลทั้ง ๕ ข้อในลักษณะต่าง ๆ
การถูกจับได้และจำนนด้วยหลักฐาน
อาจจะทำให้เรารับสารภาพ  ทำให้เรากล่าวคำขอโทษ
แต่ไม่ทำให้เราเลิกนิสัยนั้นได้จริง

แต่เมื่อใด  ที่เราเห็นจริงว่าการเบียดเบียนกันเป็นสิ่งไม่ดี
การทำผิดศีลทั้ง ๕ ข้อเป็นสิ่งไม่ดี
การทำอกุศลกรรมทั้งหลายเป็นสิ่งไม่ดี
เมื่อนั้น  แม้จะไม่มีใครจับได้  แม้จะไม่มีหลักฐาน
แต่เราก็จะเลิกนิสัยที่ไม่ดีนั้นด้วยตนเอง

ความสำคัญของการขอโทษ  ไม่ใช่เพื่อให้ใครยกโทษให้
แต่เพื่อให้เรากลับมาสำรวมระวัง  ไม่ให้ทำความไม่ดีอีก
ถ้าเรายอมรับและสำนึกผิดจริง
การขอโทษของเรา  จึงสมควรที่จะได้รับการอดโทษให้อย่างแท้จริง

ตรวจสอบตัวเอง  ก่อนจะกล่าวคำขอโทษ
เราสำนึกผิดจริงแล้วใช่ไหม
เราจะสำรวมระวังไม่ทำอกุศลกรรมอีกแล้วใช่ไหม
"วิธีนี้  จึงเป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า"
.....


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. สีหนาทสูตร (ว่าด้วยการบันลือสีหนาท)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น