ทำความดีแบบไหน


เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักการบริจาคเลือด  ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ  สภากาชาดไทย
คนส่วนใหญ่ที่ไปบริจาคเลือด  ก็เพราะต้องการทำประโยชน์ให้แก่สังคม  ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องใช้เลือดในการรักษา
เมื่อบริจาคแล้ว  ย่อมรู้สึกอิ่มเอิบใจที่ได้ทำความดี  เป็นบุญเป็นกุศล

ต่อมา  เมื่อสภากาชาดไทยมีประกาศให้ความช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล  สำหรับผู้บริจาคโลหิตที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไข

เป็นไปได้ว่าคนที่ไม่เคยบริจาคเลือดมาก่อน (บางคน)
เมื่อทราบข่าว  และอยากได้รับสิทธิในการช่วยค่ารักษาพยาบาลนี้
ก็คิดที่จะไปบริจาคเลือดด้วย

และคนที่บริจาคเลือดเป็นประจำอยู่แล้วบางคน (ขอย้ำว่า  บางคน)
เมื่อทราบข่าว  ก็อยากได้รับสิทธิในการช่วยค่ารักษาพยาบาลนี้ด้วย
แต่เมื่อไม่ได้สิทธิ (ด้วยเหตุบางอย่าง)  ก็อาจจะหงุดหงิดได้

ในขณะที่หลายคนก็อาจจะไม่ได้สนใจสิทธินี้
คิดว่ามีก็ดี  ไม่มีก็ไม่เป็นไร
เพราะเป้าหมายของการบริจาคเลือดของเขา  คือเพื่อทำความดีอยู่แล้ว
..........


ผมมีโอกาสได้ฟังคลิปเสียงธรรมบรรยายของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  (ป.อ.ปยุตโต)
เรื่องประวัติการสร้างพระเครื่อง (บรรยายเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๑)
ท่านเล่าว่า

จุดประสงค์เริ่มแรกของการสร้างพระเครื่องในอดีต
คือ  เมื่อพระพุทธศาสนาสูญสิ้นไปในกาลภายหน้า
และมีผู้มาพบพระเครื่องเหล่านี้
ก็จะเป็นเครื่องบ่งบอกว่าที่แห่งนี้  พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน

ในครั้งนั้น  เมื่อสร้างพระเครื่องจำนวนมากเสร็จแล้ว
ก็จะนำไปเก็บไว้ในเจดีย์  หรือที่เรียกกันว่าเก็บใส่กรุ

และเมื่อเวลาผ่านไปนานหลายปี
เจดีย์นั้นเริ่มผุพัง  กรุเริ่มแตก  พระสงฆ์ในสมัยนั้นก็เอามาเก็บไว้

ต่อมา  เมื่อมีญาติโยมไปทำบุญถวายทานต่าง ๆ ตามปกติ
พระสงฆ์ก็คิดว่ามีพระเครื่องอยู่เยอะ  เอามาแจกให้คนที่มาทำบุญดีกว่า

เมื่อแจกไปนานเข้า  ญาติโยมก็เริ่มชอบ
แจกจนกระทั่งพระเครื่องในกรุหมดแล้ว  แต่คนยังอยากได้
พระสงฆ์ก็เลยทำขึ้นมาใหม่

จากเดิม  ให้พระเครื่องกับคนที่มีศรัทธา  ที่มาทำบุญเป็นปกติอยู่แล้ว
คราวนี้  คนที่ไม่ค่อยทำบุญ  แต่อยากได้พระเครื่อง  ก็เลยมาทำบุญที่วัด
ปัจจุบันนี้  พัฒนากลายมาเป็นเชิงพาณิชย์
ความหมายของพระเครื่องก็เพี้ยนไป

คนสมัยโบราณ  มีพระเครื่องไว้เป็นสื่อเคารพพระรัตนตรัย
พอลูกหลานจะแยกไปมีครอบครัว  หรือไปทำงานต่างถิ่น
ก็มอบพระเครื่องที่ตนเองเคารพบูชาให้กับลูกหลาน
แล้วบอกให้รักษาให้ดี  ให้ตั้งใจทำมาหากิน  ประพฤติตัวให้ดี

เมื่อลูกหลานเห็นพระเครื่อง
จึงเป็นสื่อให้ระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่ปู่ยาตายาย
ระลึกถึงคำสอนของท่าน
และระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า
เป็นเรื่องที่ดีงาม

พระเครื่องจึงเป็นวัตถุที่สื่อถึงคุณค่าทางจิตใจ  ความรัก  คุณความดีทั้งหลาย
นี้เป็นคุณค่าแท้ดั้งเดิม

แต่ปัจจุบันนี้  ไม่ได้มีคุณค่าเช่นนั้นแล้ว
กลายเป็นวัตถุพาณิชย์ไปแล้ว  เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ซื้อได้ด้วยเงิน
..........


(ขอบคุณภาพจาก somjook.com)


ในสมัยต้นพุทธกาล
เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศพระศาสนาใหม่ ๆ
ผู้ที่เข้ามาบวช  ล้วนผ่านการฟังพระสัทธรรมมาก่อน
มีความปรารถนาจะทำที่สุดแห่งทุกข์  ให้ถึงพระนิพพาน  จึงขอบวช

เมื่อบวชแล้ว  ได้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม  เป็นที่น่าเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น
ลาภสักการะและความสรรเสริญก็เกิดขึ้น

ผู้ที่บวชแล้ว  มีเป้าหมายตรงและชัดเจน  ก็จะไม่ถูกลาภสักการะครอบงำ
แต่ผู้ที่ไม่หนักแน่น  ก็จะหวั่นไหวต่อลาภสักการะได้

ต่อมา
เมื่อคนทั่วไปเห็นลาภสักการะและความสรรเสริญในพระพุทธศาสนามีมาก
ก็อยากเข้ามาบวชบ้าง
แต่ไม่ได้สนใจศึกษาพระธรรมวินัยเลย
(อ่านเพิ่มเติมได้ในเรื่องทำไมจึงบวช)
..........


จากเหตุการณ์ที่ยกมาข้างต้น  ผลที่ตามมาคือ

คนที่บริจาคเลือด  เพราะต้องการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย
ถ้าไม่ได้รับสิทธิช่วยค่ารักษาพยาบาล  ก็ไม่เป็นไร

แต่คนที่บริจาคเลือด  เพราะอยากได้สิทธิในการช่วยค่ารักษาพยาบาล
ถ้าไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว  ก็จะหงุดหงิด  ไม่พอใจ
.....

คนที่ทำบุญถวายทาน  เพราะต้องการสร้างบุญกุศล
ถ้าไม่ได้รับแจกพระเครื่อง  ก็ไม่เป็นไร

แต่คนที่ทำบุญถวายทาน  เพราะอยากได้พระเครื่องหรือวัตถุมงคล
ถ้าไม่ได้รับแจก  ก็จะมีใจขุ่นมัว  ไม่มีปีติยินดีในทานที่ให้
.....

คนที่เข้ามาบวช  เพราะต้องการทำที่สุดแห่งทุกข์
ถ้าไม่มีคนเคารพนับถือ  ก็ไม่เป็นไร

แต่คนที่เข้ามาบวช  เพราะต้องการสบาย  บ้านก็ไม่ต้องเช่า  ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ
ถ้าไม่มีคนเคารพนับถือ  ก็หาทางทำให้คนรู้จัก  ให้มานับถือ  จะได้สบาย
..........


ฉะนั้น  เมื่อเราจะทำสิ่งใด
ลองทบทวนดูเจตนาของเราว่าทำเพื่ออะไร

การกระทำเดียวกัน  แต่เจตนาต่างกัน  ผลที่เกิดขึ้นย่อมต่างกั

จริงไหมครับ
.....


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น