ขออดโทษได้แล้ว จะเป็นยังไงต่อไป


บางคนเมื่อประสบกับความทุกข์  ความผิดหวัง  ปัญหาในชีวิต
ก็มักจะโทษดวง  คิดว่าเป็นเพราะเราดวงไม่ดี
แล้วก็จะเที่ยวแก้ดวงด้วยวิธีต่าง ๆ
ทั้งอาบน้ำมนต์  นอนโลงศพ  บูชาผ้ายันต์  บูชาเทพเจ้า  พึ่งโหราศาสตร์ / ไสยศาสตร์  หาเกจิอาจารย์  ฯลฯ
(อ่านเพิ่มเติมได้ในเรื่อง  ถ้าคุณเจอทุกข์  อย่าโทษดวง)


แต่บางคนที่รู้จักคำว่า  "กฎของกรรม"  ก็คิดว่า
"ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าเข้ามาในชีวิต  เป็นเพราะผลกรรมที่เราเคยทำไว้ในอดีต
เราเคยไปเบียดเบียนทำไม่ดีกับคนอื่น  ทำให้เขาต้องมีชีวิตลำบาก
มาในชาตินี้  เขาเลยมาทวงคืน
ทำให้เราต้องพบกับปัญหายากลำบากมากมายในชีวิต"

คิดว่าเราเคยทำไม่ดีกับเขาก่อน
เจ้ากรรมนายเวรเขาเลยมาทวงคืน

จากนั้น  ก็เลยคิดต่อไปว่า
"ทางที่ดี  เราควรทำบุญ  แล้วอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร
ขอขมาอโหสิกรรมจากเขา
ขอให้เขาอดโทษให้เรา
ขอให้เลิกแล้วต่อกัน  อย่าจองเวรจองกรรมกันอีกเลย
ปัญหายุ่งยากจะได้หมดไป  ชีวิตของเราจะได้ดีขึ้น"
...............





ในสมัยพุทธกาล  มีพระเถระรูปหนึ่ง  ชื่อว่าติสสะ
มีตระกูลนายช่างแก้วประจำพระราชวังคอยดูแลอุปัฏฐาก
นิมนต์ให้ท่านเข้าไปฉันภัตตาหารในเรือนเป็นประจำ

วันหนึ่ง  ในขณะที่นายช่างแก้วกำลังนั่งหั่นเนื้ออยู่ข้างหน้าพระเถระ
พระราชาทรงรับสั่งให้ราชบุรุษนำแก้วมณีไปให้เขาขัดและเจียระไน
เขารับแก้วมณีนั้นมาด้วยมือที่เปื้อนเลือดอยู่
วางไว้บนเขียงแล้วเข้าไปล้างมือ

นกกระเรียนตัวหนึ่งที่นายช่างแก้วเลี้ยงไว้เดินเข้ามา
มันได้กลิ่นเลือดที่ติดอยู่ที่แก้วมณี
คิดว่าเป็นชิ้นเนื้อ  จึงกลืนแก้วมณีนั้นลงท้อง
พระเถระนั่งเห็นเหตุการณ์นั้นอยู่

นายช่างแก้วกลับมาแล้วไม่เห็นแก้วมณี
จึงปรึกษากับภรรยาว่า  "สงสัยพระเถระจะเป็นคนเอาแก้วมณีไป"

ภรรยาบอกว่า  "ตลอดเวลาที่ผ่านมา
ฉันไม่เคยเห็นพระเถระทำความไม่ดีเลย
ท่านคงไม่ได้เอาแก้วมณีไปหรอก"

นายช่างแก้วถามพระเถระว่าเอาแก้วมณีไปหรือไม่  พระเถระปฏิเสธ
เขากล่าวว่า  "ในที่นี้ไม่มีคนอื่น  มีท่านอยู่คนเดียว
ท่านต้องเอาไปแน่  ขอแก้วมณีคืนให้ผมเถิด"
พระเถระปฏิเสธ

เขาจึงบอกภรรยาว่า  "คงต้องทรมานให้ท่านสารภาพ"

ภรรยาห้ามว่า  "ท่านอย่าทำอย่างนั้น
พวกเราชดใช้พระราชาด้วยการยอมเป็นทาส  ยังดีกว่า
การกล่าวหาพระเถระผู้มีคุณเห็นปานนี้  ไม่ดีเลย"

เขาไม่ฟัง  แล้วเอาเชือกพันศีรษะพระเถระ  ขันด้วยท่อนไม้ให้แน่น

เลือดไหลออกจากศีรษะ  หู  และจมูกของพระเถระ  นัยน์ตาถลน
พระเถระเจ็บปวดมาก  ได้ล้มลงที่พื้น

นกกระเรียนได้กลิ่นเลือดของพระเถระ  จึงเดินเข้ามาหวังจะกินเลือดนั้น
นายช่างแก้วซึ่งโกรธอยู่  จึงเตะมันด้วยเท้าอย่างเต็มแรง
นกกระเรียนนั้นล้มกลิ้งตายด้วยการเตะทีเดียวนั้นเอง

พระเถระเมื่อเห็นว่านกกระเรียนตายแล้ว  จึงกล่าวว่า
"อุบาสก  แก้วมณีของพระราชาถูกนกตัวนี้กลืนกินเข้าไป
ตราบใดที่นกตัวนี้ไม่ตาย
ข้าพเจ้าแม้จะต้องตาย  ก็จะไม่บอกเรื่องนี้แก่ท่าน"
(เพราะเกรงว่านายมณีการจะฆ่านกกระเรียนนี้)

เขาจึงผ่าท้องนกนั้นดู  พบแก้วมณีแล้ว  เกิดความสลดใจ  สำนึกผิด
หมอบลงใกล้เท้าของพระเถระ  แล้วกล่าวว่า
"ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอดโทษแก่ผมที่ได้กระทำล่วงเกินไปแล้วด้วยเถิด"

พระเถระกล่าวว่า
"อุบาสก  โทษของท่านไม่มี  โทษของเราก็ไม่มี
มีแต่โทษของวัฏฏะเท่านั้น
เราอดโทษให้แก่ท่าน"

พระเถระครั้นกล่าวคาถานี้แล้ว  ได้กลับไปยังวิหาร
ต่อมาไม่นาน  ก็ปรินิพพานด้วยอาการบาดเจ็บนั่นเอง

นายช่างแก้วหลังจากตายแล้ว  ก็ไปเกิดในนรก
...............


อีกเรื่องหนึ่ง  เป็นเรื่องของพระเทวทัต
เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา  แต่ไม่สามารถบรรลุมรรคผลใด ๆ
ได้แต่บรรลุฤทธิ์อันเป็นของปุถุชน

เมื่อถูกความยินดีในลาภสักการะและสรรเสริญครอบงำ
จึงคิดอยากเป็นศาสดาแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระเทวทัตวางแผนปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าโดยวิธีต่าง ๆ
เกลี้ยกล่อมอชาตศัตรูกุมารให้ปลงพระชนม์พระราชบิดา
ส่งนายขมังธนูไปลอบสังหารพระพุทธเจ้า
กลิ้งแผ่นศิลาจากหุบเขาเพื่อให้ทับพระพุทธเจ้า
มอมช้างนาฬาคิรีให้เมาแล้วปล่อยให้ไปทำร้ายพระพุทธเจ้า
ใช้อุบายเพื่อทำลายสงฆ์

ในช่วงท้ายของชีวิต  พระเทวทัตสำนึกในความผิดของตนได้
กล่าวว่า
"ข้าพเจ้าทำความอาฆาตในพระผู้มีพระภาค
แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีความอาฆาตในข้าพเจ้าแม้ประมาณเท่าปลายผม"
แล้วได้เดินทางมาเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

ในระหว่างทางนั้น  เมื่อมายังไม่ถึงที่ประทับของพระพุทธเจ้า
เท้าทั้ง ๒ ข้างของพระเทวทัตก็จมลงในแผ่นดิน (ถูกธรณีสูบ)
แล้วจมลงเรื่อย ๆ  ถึงเท้า  ถึงข้อเท้า  ถึงเข่า  ถึงเอว  ถึงหน้าอก  ถึงคอ

ในเวลาที่จมลงถึงกระดูกคางจดถึงพื้น  พระเทวทัตกล่าวว่า
"ข้าพระองค์ขอถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้เป็นเลิศ
เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ  เป็นสารถีฝึกนรชน
มีพระจักษุเห็นรอบด้าน  มีพระลักษณะแต่ละอย่างเกิดด้วยบุญตั้งร้อย
ว่าเป็นที่พึ่ง
ด้วยกระดูกพร้อมด้วยลมหายใจเหล่านี้"

พระเทวทัตจมดินไปแล้ว  เกิดในอเวจีมหานรก
เป็นผู้รับผลของกรรมที่ก่อไว้แล้ว
...............


นายช่างแก้วได้กระทำความผิดต่อพระติสสเถระ
แล้วสำนึกถึงความผิดที่กระทำลงไป
ซึ่งพระเถระก็ไม่ได้คิดโกรธอาฆาตใด ๆ
ยังกล่าวอีกด้วยว่า  "เราอดโทษให้แก่ท่าน"

แต่อกุศลกรรมที่ทำไปแล้ว  ก็ถือว่าได้ทำไปแล้ว  ย่อมต้องให้ผล
เขาจึงต้องไปเกิดในนรก
(แม้คู่กรณีจะไม่เอาความก็ตาม)
...............


พระเทวทัตได้ทำผิดต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อสำนึกผิด  ขออดโทษจากพระพุทธเจ้า
ยอมอุทิศกายใจถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง

ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้ที่เต็มเปี่ยมด้วยพรหมวิหาร  ปราศจากอคติใด ๆ
ย่อมไม่อาฆาตพยาบาทพระเทวทัตแน่นอน

แต่อกุศลกรรมของพระเทวทัต  ก็ยังต้องให้ผล
พระเทวทัตจึงถูกธรณีสูบ  แล้วไปเกิดในอเวจีมหานรก
...............


คราวนี้  ย้อนกลับไปตอนต้น
ที่มีบางคนคิดว่า
"ทางที่ดี  เราควรทำบุญ  แล้วอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร
ขอขมาอโหสิกรรมจากเขา
ขอให้เขาอดโทษให้เรา
ขอให้เลิกแล้วต่อกัน  อย่าจองเวรจองกรรมกันอีกเลย
ปัญหายุ่งยากจะได้หมดไป  ชีวิตของเราจะได้ดีขึ้น"

เมื่อมาถึงบรรทัดนี้  ความคิดดังกล่าวนี้จะถูกต้องหรือไม่

กรรมใดที่กระทำไปแล้ว  ย่อมต้องให้ผลเมื่อถึงเวลา
แม้เจ้ากรรมนายเวรหรือคู่กรณีจะอดโทษให้แล้วก็ตาม

ฉะนั้น  ทางที่ดี  เราควรตัดไฟตั้งแต่ต้นลม
คือละจากบาปอกุศลกรรมทั้งปวงตั้งแต่ต้น
เพื่อจะได้ไม่มีผลของกรรมไม่ดีมาให้ผล

ความสำคัญจึงสรุปลงมาที่โอวาทปาฏิโมกข์ (คำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา) อีกนั่นแหละ  คือ
การไม่ทำบาปทั้งปวง
การบำเพ็ญบุญกุศลให้ถึงพร้อม
การชำระจิตให้ผ่องใสบริสุทธิ์
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
.....

(ป.ล.  ถ้าคิดว่า  "ถ้าอย่างนั้น  ก็ไม่ต้องขอขมาใด ๆ ล่ะสิ"
ขอให้อ่านเรื่อง  ผู้ควรแก่การอดโทษให้  นะครับ)


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. มณิการกุลุปกติสสเถรวัตถุ (เรื่องพระติสสเถระผู้เข้าถึงสกุลนายช่างแก้ว)




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น